วิธีลดค่าไฟแอร์
การเลือกซื้อและติดตั้ง
1. ติดตั้งแอร์ให้ถูกตำแหน่ง ตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งนั้น ควรเป็นตำแหน่งที่สามารถกระจายความเย็นได้อย่างทั่วถึงโดยไม่มีอะไรมาบดบังทิศทางลม กรณีเป็นห้องนอน อาจให้อยู่ปลายเตียง ข้างเตียง แต่ไม่ควรใกล้หรือสูงจนเกินไป เพราะจะกลายเป็นนอนใต้แอร์ ซึ่งทำให้ลมเย็นพัดข้ามผ่าน และไม่ไกลจนเกินไป เพราะระยะทางทำให้ความเย็นลดลง ผู้ใช้จำเป็นต้องปรับอุณหภูมิแอร์ที่ตำกว่าปกติ ส่งผลให้เปลืองค่าไฟได้ ทิศทางของผนังก็มีผลต่อการทำความเย็น หากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงติดตั้งแอร์ในทิศทางที่โดนแสงแดดโดยตรงเพราะจะส่งผลให้แอร์ทำงานหนักกว่าปกติในช่วงกลางวัน
2. เลือก BTU ให้เหมาะสมกับขนาดห้อง ขนาด BTU ที่ต่ำ ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่า จะทำให้ประหยัดค่าไฟ ความเหมาะสมเท่านั้น ที่จะสามารถประหยัดได้ดีที่สุด สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : การคำนวณ BTU กับขนาดของห้อง
3. ปกปิดอย่างมิดชิด หลักการทำความเย็นของแอร์ จะคอยควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ ตามที่ผู้ใช้ได้กำหนดค่าอุณหภูมิไว้ หากห้องดังกล่าวอยู่ในลักษณะเปิด ความเย็นภายในจะออกสู่ภายนอก ทำให้แอร์ทำงานหนักตลอดเวลา ควรปิดประตู หน้าต่าง ให้มิดชิด ติดผ้าม่านหนาๆ หากชอบหน้าต่างกระจก แนะนำให้ใช้กระจกฟิล์มดำ กระจกป้องกันความร้อน หากห้องมีขนาดกว้างมาก อาจใช้ผ้าม่านกั้นแอร์ มาเป็นฉากกั้นห้อง ก็สามารถช่วยควบคุมได้ระดับหนึ่ง
4. ติดตั้งคัทเอาท์แยกสำหรับแอร์ : โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักนิยมปิดแอร์ด้วยรีโมทเพียงอย่างเดียว หลายท่านอาจไม่ทราบว่า แม้จะปิดแอร์แล้ว แต่ระบบไฟฟ้ายังคงทำงานอยู่ แม้จะมีอัตราสิ้นเปลืองที่ไม่มากก็ตาม การปิดคัทเอาท์ จะเป็นการปิดการทำงานแอร์อย่างสมบูรณ์ แม้จะลดพลังงานไปเพียงนิด แต่ก็ทำให้ลดลงได้ครับ อีกทั้งยังมีกรณีศึกษา แอร์บางรุ่น จะมีระบบรีเซ็ทอัตโนมัติ เช่น กรณีไฟฟ้าดับ หลังจากไฟฟ้าติดปกติ แอร์จะเปิดการทำงานขึ้นเองอัตโนมัติ หากผู้ใช้ไม่อยู่บ้าน กรณีไม่ปิดคัทเอาท์ แอร์อาจทำงานอัตโนมัติได้ครับ ทั้งนี้การฝึกปิดคัทเอาท์ให้ติดเป็นนิสัย ยังช่วยส่งผลให้ผู้ใช้ รู้จักปิดและถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นพฤติกรรมติดตัวไปอีกด้วย
การใช้งานอย่างถูกวิธี
5. ถ่ายเทอากาศ : ก่อนเข้าห้อง หากเป็นช่วงยามเย็น แนะนำให้เปิดประตู เปิดหน้าต่าง ทิ้งไว้ เพื่อให้อากาศหมุนเวียน ไล่ลมร้อนภายในห้องออก รับลมใหม่จากภายนอกเข้า
6.แอร์ในอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 25 องศา ประมาณ 26-28 องศาได้ยิ่งดี เพราะโดยปกติแล้ว ร่างกายของมนุษย์ จะสามารถรับความเย็นระดับ 27 องศาได้อย่างสบายตัว ไม่หนาว ไม่ร้อนจนเกินไป แต่หากรู้สึกร้อน อาจปรับมาสัก 26 องศา และหากรู้สึกเย็น สามารถปรับขึ้นได้ ยิ่งปรับขึ้นยิ่งประหยัด แต่ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นจนรู้สึกร้อน เพราะจะเป็นการใช้แอร์ผิดวัตถุประสงค์ คลิกอ่าน อุณภูมิแอร์ที่ประหยัด
7. หากต้องการประหยัดมากกว่าเดิม อาจปรับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นแล้วใช้เทคนิคพัดลมช่วย พัดลมจะสามารถช่วยพัดความเย็นได้อย่างดีขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องปรับอุณหภูมิให้ต่ำมากนัก โดยปกติแล้วพัดลมจะใช้พลังงานน้อยกว่าแอร์หลายเท่า แม้จะเปิดพัดลม 10 ตัว ก็ยังใช้พลังงานน้อยกว่าแอร์เพียง 1 ตัว
8. ใส่เสื้อผ้าบาง ในช่วงหน้าร้อน การใส่เสื้อผ้าบางๆ ช่วยคลายความร้อนได้ดี ทั้งในช่วงเวลาปกติ และในช่วงของการนอน เสื้อผ้าบางๆ ช่วยให้สัมผัสความเย็นของแอร์ได้รวดเร็ว รวมถึงผ้าห่ม ไม่ควรห่มผ้าหนา ควรเลือกผ้าบางและเย็น เช่น ผ้าแพร เป็นต้น
9. ลดการใช้งาน ปัจจุบันแอร์ทุกรุ่น สามารถตั้งเวลาปิดได้ ผู้ใช้อาจคำนวณจากเวลาตื่น เช่น ตื่นประมาณ 6 โมงเช้า ให้แอร์ทำงานถึง 5 โมงเช้าก็เพียงพอแล้ว เพราะตอนรุ่งเช้า อากาศภายนอกไม่ร้อนมากนัก เมื่อรวมกับอุณหภูมิภายในห้องที่สะสมความเย็นมาทั้งคืน ความเย็นภายในห้อง ยังเป็นระดับที่กำลังสบายครับ
10. ปิดการใช้งาน อย่างไรก็ตาม วิธีที่จะประหยัดได้ดีที่สุดนั้นคือ ปิดการใช้งาน ข้อนี้ ไม่ได้หมายถึงห้ามใช้ แต่ให้รู้จักใช้อย่างรอบคอบ คุณผู้อ่านอาจหาพื้นที่พักผ่อนในสวนข้างบ้าน ทดแทนการอยู่ภายในบ้าน หรือหาทำกิจกรรมอื่นๆ มาทำ เช่น ออกกำลังกายนอกบ้านยามเย็น สิ่งเหล่านี้ เป็นการแทรกกิจกรรมมาทดแทน ได้ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี อีกทั้งยังช่วยให้ประหยัดค่าไฟได้อย่างดีเลย
ความคิดเห็น